สาระประโยชน์จากมะกอก
|
![]() |
มะกอก เป็นผลไม้พื้นเมืองของไทยอีกชนิดหนึ่งที่นิยมบริโภคกันทั่วทุกภาคของ
ประเทศไทย โดยเฉพาะสุภาพสตรี เราสามารถหาซื้อมะกอกได้ง่ายตามตลาดสด
หรือรถเข็นขายผลไม้
กลุ่มที่นิยมรับประทานส้มตำลาวจะมีมะกอกเป็นเครื่องปรุงรสอย่างหนึ่งที่ขาด
ไม่ได้ เราสามารถพบต้นมะกอกได้ทั่วไปในแหล่งธรรมชาติ
และปัจจุบันก็นิยมนำต้นมะกอกมาปลูกตามบ้านด้วย
มะกอก (Spondias pinnata Pierre S. magifera wild) จัดอยู่ในวงศ์ ANACARDIACEAE ภาษาพื้นเมืองภาคกลางเรียกว่า มะกอก ส่วนภาคเหนือเรียกว่า กูก หรือกอกหมอง ภาคใต้เรียก กอก หรือ กอกเขา ภาคอีสานเรียก มะกอกดง ไพแซ มะกอกฝรั่ง หรือหมากกอก ในจังหวัดอุดรธานี ชาวกะเหรี่ยงแถบจังหวัดกาญจนบุรีเรียกว่า กระไพ้ย ไพ้ย มะกอกมีหลายชนิด เช่น มะกอกน้ำ (Spondiaspurpurca) มะกอกเผือก มะกอกฝรั่ง (Spondias dulcis) กอกเกิ้ม มะกอกบ้าน และมะกอกไทย (Spondias pinnata) เป็นต้น ทุกชนิดที่กล่าวมานี้ใช้เป็นยาสมุนไพรและเป็นอาหารได้ ตัวอย่างเช่น มะกอกน้ำ ใช้เป็นผลไม้ ผลไม้แช่อิ่ม ผลไม้ดอง มะกอกหยี หรือมะกอกบ้าน ใช้เป็นผักและเครื่องปรุงรสได้ซึ่งมะกอกเป็นพืชที่ให้ลูกดก นอกจากนี้มะกอกยังถูกนำไปเปรียบเปรยในคำพังเพยของไทยที่ว่า “มะกอกสามตะกร้า ปาไม่ถูก” มักใช้เปรียบกับคนกลับกลอกพูดจาตลบตะแลง พลิกแพลงไปมาจนจับคำพูดไม่ทัน ลักษณะทางพฤกษศาสตร์ มะกอกเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงขนาดใหญ่ สูงประมาณ 10-40 เมตร ลำต้นตรง เรือนยอดเป็นพุ่มกลมโปร่ง เปลือกมีสีเทา เรียบ กิ่งอ่อนมีรอยแผลจากการหลุดร่วงของใบ มีต่อมระบายอากาศมาก ใบเป็นแบบขนนก เป็นช่อชั้นเดียว ใบย่อยออกเป็นคู่ตรงข้าม หรือเยื้องกันเล็กน้อย รูปไข่ หรือขอบขนาด 4-6 คู่ ขนาดใบกว้าง 3-4 เซนติเมตร ยาว 7-12 เซนติเมตร โคนเบี้ยว ปลายใบมียอด 1 ใบ ใบอ่อนสีน้ำตาลอมแดงเรื่อๆ ใบแก่สีเขียว เนื้อใบค่อนข้างหนา เกลี้ยงเป็นมัน ดอกของมะกอกออกเป็นช่อสีขาวออกตามซอกใบ หรือเหนือรอยแผลใบตอนปลายกิ่ง กลีบดอกและกลีบรองดอกมีอย่างละ 5 กลีบ ผลเป็นรูปไข่ ขนาดกว้าง 2.5-3.5 เซนติเมตร ลูกอ่อนมีสีเขียว เมื่อแก่เป็นสีเหลืองอมเขียว และเหลืองจัดในที่สุด เนื้อหุ้มเมล็ด รสเปรี้ยว เมล็ดใหญ่ แข็งมาก และมีเสี้ยนขรุขระ การปลูกและการขยายพันธุ์ โดยการเพาะเมล็ด หรือตอนกิ่ง ฤดูหนาวเป็นฤดูที่เหมาะสมกับการเก็บส่วนขยายพันธุ์ สภาพแวดล้อมที่เหมาะต่อการเจริญเติบโตคือ ป่าดิบแล้งทั่วไป ป่าทุ่งหรือป่าเบญจพรรณชื้น สูงจากระดับน้ำทะเล 50-500 เมตร ชาวบ้านนิยมนำมาปลูกตามสวน หรือบริเวณบ้านเพื่อใช้เป็นอาหาร มะกอกเป็นพรรณไม้ที่ขึ้นกลางแจ้ง และทนต่อแสงแดดได้ดี ประโยชน์ทางยาสมุนไพร ผลมะกอกมีรสเปรี้ยว ฝาด หวาน สรรพคุณทางยา แก้โรคธาตุพิการเนื่องจากน้ำดีไม่ปกติ แก้โรคบิด ใบมะกอก คั้นน้ำใช้หยอดหู แก้อาการปวดหู และหูอักเสบ ผลมะกอก แก้เลือดออกตามไรฟัน ผลสุกทำให้ชุ่มคอ แก้กระหายน้ำ เปลือก ให้รสฝาด เย็น เปรี้ยวอมหวาน สรรพคุณดับพิษกาฬ แก้ร้อนใน ท้องเดิน อาเจียน ปวดมวนท้อง และแก้สะอึกได้ดี ประโยชน์ทางอาหาร ส่วนใหญ่ใช้เป็นผักตามฤดูกาล โดยใช้ยอดอ่อน ใบอ่อนและผลสุกส่วนที่เป็นยอดอ่อน ใบอ่อน รับประทานในฤดูฝน และออกเรื่อยๆ ตลอดปี ส่วนผลเริ่มออกในฤดูหนาว การปรุงอาหาร คนไทยทั่วทุกภาครู้จักและนิยมยำยอดมะกอกเป็นผักสด ในภาคกลางใช้ยอดอ่อนและใบอ่อนร่วมกับน้ำพริกปลาร้า เต้าเจี้ยวหลน ชาวอีสานรับประทานกับลาบ ก้อย แจ่วป่น หรือรับประทานกับแหนมเนือง ซึ่งเป็นอาหารเวียตนามได้เช่นกัน ผลสุกของมะกอกนำมาปรุงเป็นเครื่องปรุงรส โดยฝานเป็นชิ้นใส่ก้อยกุ้ง หรือใช้ร่วมกับส้มตำมะละกอ ช่วยให้รสชาติอร่อยขึ้น |
0 comments:
Post a Comment